• แนะนำการใช้งานเบื่องต้น การใช้งาน-community
    ประกาศ :
    • ทำการแก้ไขระบบนับถอยหลังเพื่อดาวน์โหลดไฟล์แล้ว
กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


ข้อสังเกตต่อเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ทำทั้งหมดได้โดยไม่ต้องใช้บล็อกเชน

ข่าว ข้อสังเกตต่อเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ทำทั้งหมดได้โดยไม่ต้องใช้บล็อกเชน

News 

Moderator
สมาชิกทีมงาน
Moderator
Verify member
พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนที่มีอยู่ราว 50 ล้านคน โดยระบุว่าจะพัฒนาระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ด้วยเหตุผลเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่วางไว้

บทความนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตต่อแนวนโยบาย โดยจำกัดขอบเขตแค่ประเด็นทางเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ในแง่ความเหมาะสมของนโยบายในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

e858bff8f771aabea96d92cc0becea59.jpg


ข้อจำกัดของการใช้เงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย​


หากอ้างอิงการแถลงรายละเอียดของโครงการ ณ วันที่ 7 เมษายน 2566 โดยแกนนำของพรรค (คลิปแถลงฉบับเต็มด้านล่าง) การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีข้อจำกัดการใช้จ่ายเงินใน 3 มิติ ได้แก่

  • จำกัดระยะทาง กำหนดไว้ที่รัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน โดยสามารถขยายรัศมีเพิ่มได้ หากบริเวณนั้นไม่มีร้านค้า
  • จำกัดระยะเวลา กำหนดไว้ว่าเงินดิจิทัลมีอายุ 6 เดือน เพราะเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ยกเว้นการซื้อบุหรี่ การพนัน การใช้หนี้นอกระบบ การซื้อของที่ผิดกฎหมาย

แกนนำของพรรคเพื่อไทยอธิบายว่าต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพราะ "เขียนเงื่อนไข" ลงในตัวเงินดิจิทัลได้ จึงสามารถจำกัดการใช้งานเหล่านี้ได้ ซึ่งคำกล่าวนี้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงในทางเทคนิคอยู่มาก

บล็อกเชน ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิได้ด้วยตัวเอง​


ผู้ที่เคยศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นพร้อมกับเงินดิจิทัล Bitcoin คงทราบข้อมูลกันดีว่า หลักการสำคัญคือนำการประมวลผลไปอยู่บน "เชน" หรือสายโซ่ข้อมูล เพื่อให้ประมวลผลธุรกรรมแบบกระจายศูนย์โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางได้

แต่จริงๆ แล้ว ตัวบล็อกเชนมีหน้าที่ประมวลผลเฉพาะธุรกรรมที่อยู่บนสายโซ่ (on-chain) เท่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึงแค่ว่า "ใครโอนเงินให้ใคร" (who pays whom) เปรียบได้กับระบบหลังบ้านเพียงอย่างเดียว โค้ดบนบล็อกเชนนั้นไม่รับรู้ถึงข้อมูลนอกโลกบล็อกเชน เช่น สภาพอากาศ, ราคาหุ้น, หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ผ่านมาโครงการบล็อกเชนต่างๆ ก็จะมีตัวกลางเรียกว่า Oracle นำข้อมูลเข้ามาสู่บล็อกเชนให้อีกทีหนึ่ง

แต่ในการนำไปใช้งานจริง เรายังต้องมีระบบอื่นที่อยู่นอกบล็อกเชน (off-chain) เข้ามาเชื่อมต่อด้วย ตัวอย่างคือระบบกระเป๋าเงิน (วอลเล็ต) ที่ช่วยให้ผู้ใช้จัดการวงเงิน การใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นระบบภายนอกที่มาเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอีกที หรือถ้าใครติดตามเรื่อง NFT ก็จะทราบว่าตัวไฟล์สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกเก็บอยู่ในระบบสตอเรจแบบอื่นนอกบล็อกเชน เช่น ระบบ HTTP แบบดั้งเดิม หรือระบบไฟล์กระจายศูนย์ IPFS

การระบุว่าเลือกใช้บล็อกเชนเพราะเป็นเทคโนโลยีที่จำกัดสิทธิการใช้เงิน ไม่ให้ใช้นอกกรอบนโยบายได้ จึงไม่ถูกต้องในทางเทคนิค และในทางตรงข้ามคือ เทคโนโลยีบล็อกเชนกลับไม่สามารถทำสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้

  • จำกัดระยะทาง เป็นสิ่งที่อยู่นอกบล็อกเชน ต้องการแอปพลิเคชั่นรายงานว่าผู้รับและผู้จ่ายอยู่ที่พิกัดใด
  • จำกัดระยะเวลา อาจทำได้หากกำหนดเงื่อนไขเวลาเพิ่มเติมในซอฟต์แวร์ที่รันบล็อกเชน เพียงแต่ซอฟต์แวร์บล็อกเชนที่นิยมในปัจจุบัน ออกแบบมาให้ใช้เงินดิจิทัลได้ตลอดไปในอนาคต และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องอายุของเงินไว้ ที่ผ่านมา Smart Contract บนแพลตฟอร์มอย่าง Ethereum มักกำหนดเวลาโดยใช้หมายเลขบล็อกแทนค่าเวลาจริงๆ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจยากกว่ามาก และเวลาที่กำหนดก็ไม่สามารถกำหนดแน่นอน เช่น บอกว่าให้ใช้ถึงเที่ยงคืนเป๊ะวันที่ 31 ธันวาคม แบบนี้ทำไม่ได้
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ตัวบล็อกเชนเห็นแค่ยอดธุรกรรมระหว่างใครกับใคร (who pays whom) เท่านั้น ไม่รู้ว่าใช้จ่ายเพื่ออะไร (what) สุดท้ายแล้วการจำกัดประเภทต้องไปทำที่ระบบนอกเชน เช่น ตัวแอพฝั่งผู้ขาย อยู่ดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป เช่น ไม่สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากๆ ได้ และต้องอาศัยเวลาในการประมวลผลแต่ละบล็อกนานกว่าระบบธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน

เงินดิจิทัล CBDC ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนเสมอไป​


ในการแถลงของพรรคเพื่อไทย ได้อ้างถึงแนวคิดเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) โดยพยายามบอกว่าเงินแบบ CBDC ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งไม่จริงเสมอไป

แนวคิดของเงินดิจิทัล CBDC เป็นแค่การแปลงเงินตรา (currency) แบบดั้งเดิมให้อยู่ในรูปดิจิทัลเท่านั้น ตัวเทคโนโลยีจะเป็นบล็อกเชนหรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างคือ โครงการทดสอบ CBDC รอบล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าใช้ระบบจากบริษัท Giesecke+Devrient ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรวมศูนย์ (centralized) ที่ไม่ใช่บล็อกเชน ด้วยเหตุผลว่าต้องการทดสอบระบบที่รองรับธุรกรรมจำนวนมากๆ ที่เป็นข้อจำกัดของบล็อกเชน

dcabb1db53e441a3e2433360b05d27af.png


ระบบเงินดิจิทัล CBDC ของหลายประเทศเองก็ไม่ได้ใช้บล็อกเชนมาตั้งแต่แรก เช่น


ในช่วงหลัง ตัวแนวคิด CBDC เอง (ไม่ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบใด) ยังถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นว่าต้องมีจริงๆ หรือไม่ ตัวอย่างคือ รายงานของธนาคารกลางสิงคโปร์หลังทดสอบ CBDC แล้ว และพบว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ และ อดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางของอังกฤษ ที่มีมุมมองว่า CBDC ซ้ำซ้อนกับเงินสำรองอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีอยู่แล้ว และไม่มีประโยชน์ชัดเจน

การเงินโลกเก่า "เป๋าตัง" สามารถทำสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้​


นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยชูประเด็นเรื่องการใช้บล็อกเชนว่า ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใน "โลกยุคใหม่" ซึ่งแตกต่างจากแอพพลิเคชันเป๋าตัง ที่เป็นเงินใน "โลกยุคเก่า"

อย่างไรก็ตาม ระบบเป๋าตังที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าเป็นการเงินโลกยุคเก่า ใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบปกติร่วมกับการพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทั่วไป (ไม่มีบล็อกเชนเลย) กลับสามารถทำเงื่อนไข 3 ข้อที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้ และมีอยู่แล้วในโครงการคนละครึ่งที่ผ่านมา

  • จำกัดระยะทาง เป๋าตังกำหนดให้ต้องสแกนจ่ายแบบพบหน้าอยู่แล้ว และในทางเทคนิคสามารถกำหนด geofencing กำหนดรัศมีระยะทางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้
  • จำกัดระยะเวลา วงเงินของเป๋าตังมีหมดอายุตามระยะเวลาของโครงการอยู่แล้ว และจำกัดวงเงินรายวัน วันละไม่เกิน 150 บาทอยู่แล้ว
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ใช้วิธีจำกัดประเภทผู้ขาย (merchants) เช่น ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นแฟรนไชส์ บริการขนส่งสาธารณะบางประเภท ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบจากเอกสาร ณ จุดลงทะเบียน

ส่วนเงื่อนไขการใช้งานอื่นๆ เช่น แนวคิดเรื่องการให้เงินดิจิทัลหมุนอยู่ในระบบเพื่อให้เกิดการหมุนของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรอบ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนอยู่ดี เพียงแค่กำหนดเงื่อนไขในแอพเป๋าตัง ให้วงเงินในแอพไม่สามารถแลกคืนเป็นเงินสดได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาของโครงการ) สามารถจ่ายออกเพื่อซื้อสินค้าอื่นๆ ในระบบได้เพียงอย่างเดียว ก็แก้ปัญหานี้ได้

โครงสร้างพื้นฐานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนใหม่ให้ซ้ำซ้อน แต่ต้องเป็นของทุกคน​


ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ระบบที่มีอยู่แล้วอย่างเป๋าตัง สามารถตอบโจทย์นโยบายเรื่องการจำกัดสิทธิการใช้เงินของพรรคเพื่อไทยได้ทั้งหมด ไม่ต้องลงทุนพัฒนา "โครงสร้างพื้นฐานใหม่" ให้ซ้ำซ้อน โดยที่ไม่เห็นประโยชน์ที่จับต้องได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชนตามที่กล่าวอ้าง

ในแง่ของระยะเวลาโครงการ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายพรรคเพื่อไทย บอกว่าจะใช้โครงการเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 6 เดือนเท่านั้น และไม่ได้ระบุว่าหลังจากหมดโครงการ 6 เดือนนี้จะมีโครงการเกี่ยวกับเงินดิจิทัลอีกหรือไม่ หากไม่มีแผนต่อเนื่องอีก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่มาเพียงเพื่อโครงการเดียว ก็คงไม่คุ้มค่างบประมาณที่เสียไปเท่าไรนัก

ในแง่ของเวลาเริ่มดำเนินโครงการ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ประเมินว่าจะจัดตั้งรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3 และเริ่มโครงการเงินดิจิทัลได้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เท่ากับว่ามีเวลาในการริเริ่มโครงการ พัฒนา และทดสอบระบบเพียงไม่กี่เดือน การพัฒนาระบบไอทีแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในระยะเวลาเพียงเท่านี้ ย่อมไม่ง่ายในทางปฏิบัติ และมีโอกาสล้มเหลวสูง ดังที่ตลาดหุ้นออสเตรเลียล้มเลิกโครงการเปลี่ยนระบบเป็นบล็อกเชน สูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณที่ใช้ไป

อย่างไรก็ตาม ระบบที่มีอยู่แล้วอย่างเป๋าตัง ยังมีจุดอ่อนในแง่ความเป็นเจ้าของที่ไม่ชัดเจน เพราะโครงการเป๋าตังพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย (ในฐานะรัฐวิสาหกิจ) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง การที่ธนาคารรายเดียวได้สิทธิในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ จึงควรถูกตั้งคำถามในแง่การแข่งขันในอุตสาหกรรม เพราะถือว่าได้เปรียบธนาคารหรือสถาบันการเงินรายอื่น (รวมถึงธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจรายอื่นด้วย เช่น ธนาคารออมสิน หรือ ธกส.) เป็นอย่างมาก

หากเรามองย้อนดูจุดเริ่มต้นของโครงการเป๋าตัง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษคือระหว่างวิกฤต COVID-19 ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ก็พอเข้าใจได้ว่า ธนาคารกรุงไทยอาจมีความพร้อมในการพัฒนาระบบไอทีมากกว่าหน่วยงานอื่น และสามารถสร้างระบบขึ้นมาตอบสนองนโยบายภาครัฐได้ในเวลาที่จำกัดมาก

แต่ในปี 2566 วิกฤต COVID-19 คลี่คลายไปมากแล้ว รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง ควรต้องหยิบประเด็นนี้มาพิจารณา และหารือกันว่าความเป็นเจ้าของ "โครงสร้างพื้นฐานการเงิน" ของประเทศไทยควรเป็นของใครกันแน่ ภารกิจในอนาคตระยะยาวของเป๋าตังควรเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแข่งขันบนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมและเสรี

Topics:
Pheu Thai Party
CBDC
Thailand
Finance
Blockchain

อ่านต่อ...
 

ไฟล์แนบ

  • e858bff8f771aabea96d92cc0becea59.jpg
    e858bff8f771aabea96d92cc0becea59.jpg
    94.6 กิโลไบต์ · จำนวนการดู: 23
  • dcabb1db53e441a3e2433360b05d27af.png
    dcabb1db53e441a3e2433360b05d27af.png
    110.9 กิโลไบต์ · จำนวนการดู: 25

กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
กลับ
ยอดนิยม ด้านล่าง