• แนะนำการใช้งานเบื่องต้น การใช้งาน-community
    ประกาศ :
    • ทำการแก้ไขระบบนับถอยหลังเพื่อดาวน์โหลดไฟล์แล้ว
กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see


จีนจ้องคุณอยู่? จริงหรือมั่วที่รัฐบาลจีนคุม TikTok ได้

ข่าว จีนจ้องคุณอยู่? จริงหรือมั่วที่รัฐบาลจีนคุม TikTok ได้

News 

Moderator
สมาชิกทีมงาน
Moderator
Verify member
การแบ่งขั้วแยกข้างในสหรัฐฯ นับวันก็ยิ่งร้าวลึก ไม่ใช่แค่มีเรื่องให้เห็นต่างกันมากขึ้นระหว่างเดโมแครตและรีพับบลิกัน แต่ดีกรีความเห็นต่างในแต่ละเรื่องก็ทวีความเข้มข้น แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ 2 ขั้วเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือประเด็นเรื่องจีน

ถ้าใครได้ตามข่าวต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ น่าจะผ่านตากันมาบ้างกับประเด็นที่สหรัฐฯ พยายามบีบให้ TikTok แยกกิจการจาก ByteDance (บริษัทแม่ในจีน) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกิน 80% เห็นด้วยในเรื่องนี้ แม้สองพรรคใหญ่จะแบ่งเก้าอี้กันครึ่งต่อครึ่งในสภาทั้งสอง ย้ำชัดถึงความกลมเกลียวกับในเรื่องจีน

ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้คือการที่ทางการสหรัฐฯ กังวลว่า TikTok อาจเปิดช่องให้ทางการจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลบนแพลตฟอร์มภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายจีน ตลอดจนอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีเหนือบรรดาผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีของจีน ส่วน FBI เตือนถึงความเป็นไปได้ในการแผ่อิทธิผลด้านข้อมูลข่าวสารผ่าน TikTok

alt=TikTok


คำถามสำคัญคือ ความกังวลของสหรัฐฯ มีมูลแค่ไหน? เพื่อจะทำความเข้าใจ เราต้องลองลอกเปลือกหัวหอมออกมาดูกันทีละชั้น

เสียงเล่าอ้างจากอดีตพนักงาน TikTok​


หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า ByteDance คือร่มใหญ่ของแอปหลาย ๆ ตัว เช่น TikTok (แอปวิดีโอสั้นที่ดำเนินงานทั่วโลก) Douyin (แอปคล้าย TikTok ในเวอร์ชันจีน) Jinri Toutiao (แอปอ่านข่าวของจีน) และอื่น ๆ

ซึ่ง TikTok เน้นย้ำเสมอว่า การดำเนินงานนอกจีนและในจีนนั้นแยกขาดออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก Wall Street Journal ออกมาว่าบางครั้งพนักงาน TikTok ในสหรัฐฯ ก็แชร์ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น อีเมล วันเกิด หรือ IP Address กับเพื่อนร่วมงานที่ ByteDance ผ่านแอปส่งข้อความที่ใช้งานกันในบริษัท เรื่องนี้อาจเป็นสัดส่วนข้อมูลเล็ก ๆ แต่นักวิจัยจาก Johns Hopkins มองว่าเป็นหลักฐานสำคัญว่า TikTok ไม่ได้จริงจังมากพอที่จะแยกการดำเนินงานในจีนและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เมื่อต้นปีมานี้ อดีตลูกจ้างของ TikTok ออกมาเปิดเผยกับ Fortune ว่าตนได้ทำงานเกี่ยวกับการส่งข้อมูลจากสหรัฐฯ ไปยังจีน และยังมีสายบังคับบัญชาลับ ๆ ที่พนักงานสหรัฐฯ ขึ้นต่อผู้บริหาร ByteDance ในจีนโดยตรง

ตรงนี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่า เอาเข้าจริง TikTok และ ByteDance ในจีนก็มีจุดเชื่อมต่อกัน ซึ่งถ้าเจาะดูในรายละเอียดก็จะเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้น

ByteDance เผยว่าหุ้นราว 60% อยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เช่น BlackRock อีกราว 20% เป็นของผู้ก่อตั้ง และอีก 20% เป็นของพนักงานทั่วโลก (รวมถึงพนักงาน 7,000 คน ในสหรัฐฯ) พยายามนำเสนอภาพว่าตนเป็นบริษัทจีนที่มีความเป็นสากลสูง

alt=TikTok


แต่ CNN ตั้งจุดสังเกตที่อาจเผยให้เห็นสายสัมพันธ์ของทางการจีนและบริษัทเอาไว้บางส่วน ดังนี้

  • กฎหมายจีนกำหนดให้บริษัทต้องให้ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร ในปี 2021 จีนริเริ่มกฎหมายความมั่นคงด้านข้อมูลฉบับใหม่ ครอบคลุมกิจกรรมนอกประเทศที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์สาธารณะ
  • หน่วยงานกำกับดูแลจีนมี Golden Share ใน ByteDance เหมือนกับบริษัทเทครายอื่นในจีน โดยแม้จะเป็นสัดส่วนหุ้นแค่ 1% แต่เป็นหุ้นที่มีสิทธิโหวตสูง มีอำนาจกำหนดทิศทางบริษัท
  • มีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ในบริษัท เหมือนกับบริษัทจีนอื่น ๆ

ถึงจุดนี้ก็พอมีช่องให้ตีความว่าทางการจีนสามารถเข้ามามีบทบาทบางอย่างหากต้องการเพราะมีกลไกไม่น้อยสอดรับอยู่

เปิดดาต้า คอนเทนต์แอนตี้จีนมีน้อยบน TikTok​


คำถามต่อมาคือ หน่วยงานรัฐบาลจีนมีอำนาจ มีสิทธิใน ByteDance แล้ว ส่งผลในทางปฏิบัติของการดำเนินงานแค่ไหน? ในเรื่องนี้มีสถาบันวิจัยชั้นนำด้านการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่าง Network Contagion Research Institute (NCRI) เข้าไปศึกษาและได้ผลสรุปที่น่าสนใจออกมา

NCRI ศึกษาโดยเปรียบเทียบว่าใน TikTok และ Instagram มีจำนวนเนื้อหาแต่ละประเภทต่างกันแค่ไหน (โดยจำแนกประเภทผ่านแฮชแท็ก) โดยใช้ฟีเจอร์ Ads Manager ของ TikTok และ Explore ของ Instagram

ในช่วงเวลาที่ศึกษา Instagram มีผู้ใช้ประมาณ 2 พันล้านราย ส่วน TikTok มีผู้ใช้ 1.5 พันล้านราย (IG มากกว่า TikTok 1.3 เท่า) ดังนั้น จำนวนคอนเทนต์ประเด็นต่าง ๆ จึงน่าจะถูกเผยแพร่ใน IG มากกว่า TikTok 1.5 - 2 เท่า

สิ่งที่พบคือ ในประเด็นทั่ว ๆ ไป เช่น วัฒนธรรมป็อป (เช่น #TaylorSwift) และการเมืองสหรัฐฯ (เช่น #Republican) จำนวนคอนเทนต์ใน IG มีจำนวนมากกว่าเป็น 2.2 เท่า และ 2.6 เท่าของ TikTok ซึ่งยังถือว่าปกติ

แต่ถ้าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับทางการจีน ตัวเลขจะเป็นอีกแบบทันที เช่น

  • อุยกูร์ 11.1 เท่า (IG มากกว่า TikTok เยอะมาก)
  • ทิเบต 37.7 เท่า
  • การประท้วงในฮ่องกง 181.1 เท่า
  • เทียนอันเหมิน 81.5 เท่า
  • ทะเลจีนใต้ 20.6 เท่า
  • ไต้หวัน 15.3 เท่า

alt=TikTok
alt=TikTok


ส่วนประเด็นระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มคล้าย ๆ กัน

  • ยูเครน 8.5 เท่า (จีนต้องคงท่าทีเป็นกลาง เพราะเป็นมิตรกับรัสเซีย)
  • อิสราเอล 6.2 เท่า (จีนต้องคงท่าทีต่อต้านอิสราเอลเพื่อสร้างสมดุลกับประเทศอาหรับและคานกับสหรัฐฯ)

แต่ในประเด็นที่เป็นเผยแพร่แล้วเป็นประโยชน์กับจีน เช่น เอกราชแคชเมียร์ (เป็นประโยชน์ต่อจีนเพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะบ่อนเซาะอิทธิพลของอินเดียในเอเชียกลางซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวของจีน) TikTok กลับมีจำนวนคอนเทนต์มากเป็น 619 เท่าของ Instagram โดยมีจำนวนโพสต์มากถึง 230 ล้านโพสต์ (เทียบกับโพสต์ในประเด็นคล้าย ๆ กันคืออุยกูร์คือมีแค่ 50,000 โพสต์)

alt=TikTok


  • หากจะบอกว่า คนเล่น TikTok ไม่สนใจการเมืองโลกก็คงไม่ใช่ เพราะจำนวนโพสต์เกี่ยวกับแคชเมียร์ ยังมากกว่าโพสต์ที่ติดแฮชแท็ก #CristianoRonaldo (7 ล้านโพสต์) และ #HarryStyles (10 ล้านโพสต์) ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมโพสต์ในประเด็นโลกอื่น ๆ เช่น ทิเบตหรือยูเครนกลับถูกละเลยใน TikTok
  • หรือในอีกมุม ตัวเลข 230 ล้านโพสต์เรื่องแคชเมียร์ซึ่งค่อนข้างเฉพาะทาง (แต่กลับมีโพสต์มากกว่าประเด็นแมส ๆ) ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่า TikTok มีส่วนเข้ามาช่วยผลักดัน (หรือเซ็นเซอร์) คอนเทนต์ในบางประเด็นตามผลประโยชน์ของจีน

TikTok ออกมาแก้ต่าง​


หลังจาก NCRI เผยผลการศึกษานี้ในช่วงปลายปี 2023 ไม่นาน

  • TikTok ได้นำฟีเจอร์ค้นหาข้อมูลแฮชแท็กใน Creative Center ออกทันที
  • และยังลบแฮชแท็กหลายตัวที่ NCRI เข้าไปเก็บข้อมูล เช่น อุยกูร์ เทียนอันเหมิน และปาเลสไตน์

alt=TikTok


TikTok ยังรีบออกมาแก้ต่างโดยระบุว่าการศึกษาจำนวนคอนเทนต์ไม่ได้บ่งบอกว่า TikTok ดันหรือเซ็นเซอร์บางประเด็น เช่น ในกรณีของคอนเทนต์เข้าข้างปาเลสไตน์ที่มีมากกว่าอิสราเอลก็เพราะคนอเมริกันยุคใหม่เห็นอกเห็นใจปาเลสไตน์มากขึ้น

ประเด็นคือ ถ้าเรื่องนี้เป็นแนวโน้มในภาพรวม จำนวนคอนเทนต์สนับสนุนอิสราเอลก็ควรมีจำนวนไม่หนีกันมากในทั้ง 2 แพลตฟอร์ม แต่ตัวเลขปัจจุบันคือคอนเทนต์บน IG มีมากเป็น 6 เท่าของ TikTok (1,000,000 โพสต์ กับ 170,000 โพสต์)

alt=TikTok


นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยด้านสื่ออย่าง Paul Matzko ออกมาบอกอีกด้วยว่า Instagram เกิดก่อน TikTok ทำให้บางประเด็น เช่น ทิเบต ที่เคยเป็นที่สนใจในอดีตไม่เป็นที่นิยมอีกแล้วในปัจจุบัน

แต่ข้อวิจารณ์นี้อาจเจือจางลงไปเพราประเด็นที่เกิดขึ้นในเงื่อนเวลาคล้ายกันกับทิเบต (คือเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับจีนมานาน) อย่างกรณีแคชเมียร์กลับได้รับความนิยมใน TikTok อย่างล้นหลาม ส่วนประเด็นที่ถือว่าเก่าแก่เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มทั้งสองอย่างเทียนอันเหมินกลับมีจำนวนโพสต์น้อยแค่ใน TikTok เท่านั้น

บริษัทเทคโลก = สมรภูมิโลก?​


ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในหลากหลายสมรภูมิ TikTok กลายเป็นอีกหนึ่งหัวหาดของความกังวลด้านความมั่นคงทางข้อมูลและการแผ่อิทธิพลทางการเมือง แม้ว่า TikTok จะพยายามยืนยันถึงความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีน แต่หลักฐานบางส่วนก็มีน้ำหนักให้ฝากสหรัฐฯ เป็นกังวลและเริ่มท่าทีเชิงรุก

ในขณะที่การถกเถียงเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่ชัดเจนเสมอมาคือบริษัทยักษ์ใหญ่บนเวทีโลกต่างสื่อถึงให้เห็นนัยยะทางการเมืองโลกได้มากแค่ไหน

ในอดีต Sharp, Panasonic, Toyota เป็นตัวแทนความรักและชังระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ต่อมา Samsung ก็เน้นให้เห็นความสำคัญของเกาหลีใต้ที่ห้ามละสายตา TSMC ในตอนนี้ก็เป็นดั่งสมรภูมิชี้ขาดของสหรัฐฯ และจีน

ส่วน TikTok คืออีกยุคของความขัดแย้งที่วัดด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีใครอยากแพ้

อ้างอิง: NCRI ,TikTok, NYTimes, Fortune, Washington Post, Bloomberg

Topics:
TikTok
China
USA
Law

Continue reading...
 

กรุณาปิด โปรแกรมบล๊อกโฆษณา เพราะเราอยู่ได้ด้วยโฆษณาที่ท่านเห็น
Please close the adblock program. Because we can live with the ads you see
กลับ
ยอดนิยม ด้านล่าง